Deaw เดี่ยวไมโครโฟน
‘เดี่ยวไมโครโฟน’ ของอุดม แต้พานิช สร้างปรากฏการณ์บัตร sold out ทุกครั้งมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะเขาแทบจะเป็น the only one ของวงการแสตนด์อัพคอเมดี้ บ้านเราไม่ใช่นิวยอร์กซิตี้ที่สามารถหาโชว์เดี่ยวไมค์ดูได้ทุกคืน หรือช่วงก่อนโควิดผู้เขียนเห็นงานเดี่ยวไมโครโฟนแบบเล็กๆ ของศิลปินอื่นจัดอยู่เป็นระยะ แต่ปัจจุบันก็แทบไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย ดังนั้นโชว์ของอุดมจึงเป็นเหมือนงานที่ห้ามพลาดสำหรับคนบางกลุ่ม
ทว่ากระแสความนิยมต่อเดี่ยวไมโครโฟนในช่วงราว 5 ปีมานี้ก็ดรอปลงพอสมควร (อาจจะวัดอย่างหยาบๆ จากคนรอบตัวผู้เขียนและคอมเมนต์ชาวเน็ต) ด้วยข้อครหาต่างๆ ทั้งไม่ตลกแล้ว มุกตลกแบบดาษดื่นเหมือนหาได้จากสเตตัสเฟซบุ๊ก การจิกกัดซ้ำไปวนมาถึงพฤติกรรมของสตรีเพศ หรือบางคนบอกว่าไม่รู้จะซื้อบัตรทำไม เดี๋ยวสักพักก็มีให้ดูในยูทูบหรือสตรีมมิ่งแล้ว (อันที่จริงสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับหนังโรงด้วย)
ส่วนตัวผู้เขียนยังซื้อบัตรเดี่ยว 13 ด้วยเพราะดูแบบสดมาตั้งแต่เดี่ยว 5 ผ่านมาแล้วทั้งการซื้อบัตรเสริมสั่งพื้น, ต่อแถวซื้อบัตรยาวนาน 6 ชั่วโมง, ทะเลาะตบตีกับเว็บไซต์ขายบัตรเพราะบัตรเครดิตตัดไม่ผ่าน ฯลฯ และหลังจากเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมา 3 รอบ เป็นเวลาเกือบ 2 ปีด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในที่สุดเดี่ยว 13 ก็ได้จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ.2022
ผู้เขียนเข้าใจว่าอุดมน่าจะต้องปรับสคริปต์ใหม่มาหลายรอบเพราะโชว์ถูกเลื่อน ธีมหลักของเดี่ยว 13 เป็นประสบการณ์ของเขาที่เพิ่งไปบวชมา การบวชทำให้เขาตระหนักถึงการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย นำไปสู่การบรรลุว่าเขาใกล้จะตายแล้ว จึงไม่ควรเสียเวลากับเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมพิธีสารพัดที่นำมาซึ่งความกระอักกระอ่วนใจ อาทิ งานแต่งงานที่เราไม่รู้สึกยินดีด้วย, การถ่ายรูปรวมในงานศพที่ไม่รู้จะทำหน้าอย่างไร หรืองานเชงเม้งท่ามกลางอากาศร้อนบัดซบและเหล่าญาติที่เหม็นขี้หน้ากัน
ช่วงแรกของโชว์ทำให้ผู้เขียนเอ็นจอยพอสมควร อุดมยังทำได้ดีกับการหยิบเรื่องใกล้ตัวมาเล่าอย่างสนุกสนาน แต่อีกความรู้สึกหนึ่งคือมุกเหล่านี้มันช่างเป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันหรือเราเองก็เม้ามอยกับเพื่อนในคอนเทนต์แบบนี้อยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นโชว์ก็เริ่มดิ่งเหวด้วยการที่อุดมประกาศว่า จากนี้เขาจะไม่ขอเสียเวลากับ ‘ส้วมนั่งยอง’ และ ‘ผี’ อีกต่อไป ผู้เขียนเผลอถอนหายใจออกมาทันที เพราะเดาได้ว่าเขาเล่นมุกไม้ตายอย่างเรื่องอุปสรรคในการขับถ่ายและการผจญกับผีสางในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถูกเล่ามาแล้วจนช้ำในเดี่ยวครั้งก่อนๆ
ครั้งหนึ่งผู้เขียนพูดคุยกับมิตรสหายว่า หลายปีมานี้เราเข้าถึงแสตนด์อัพคอเมดี้ของศิลปินต่างประเทศง่ายขึ้นมากเพราะบริการสตรีมมิ่ง เราได้เปิดโลกว่าการเล่นมุกตลกระดับอินเตอร์นั้นไปสุดทั้งการหมิ่นเหม่ล้ำเส้นและการวิพากษ์สังคม ไม่ว่าจะการวิจารณ์กระแส #MeToo ของ Michelle Wolf, ความคับข้องใจของการเป็นผู้หญิงโดย Taylor Tomlinson, Neal Brennan ที่เปิดเผยถึงโรคซึมเศร้าแบบตลกและลึกซึ้งไปพร้อมกัน หรือรุ่นใหญ่อย่าง Dave Chappelle, Louis C.K. และ Ricky Gervais ที่ช่วงหลังพร้อมใจกันแซวเรื่อง Over-PC และ Woke Culture (ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพวกเขาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ผู้เขียนเองไม่ได้หวังว่าโชว์ของอุดมจะต้องไปไกลขนาดนั้น แต่การยังต้องมาวนเวียนกับเรื่องขี้ๆ ผีๆ ทำให้ท้อใจต่อการชมอยู่ไม่น้อย
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าโชว์หลังๆ ของอุดมช้าและเนือยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นตามเงื่อนไขของวัยและสังขาร แต่เดี่ยว 13 ช่วงที่อุดมเล่าว่า “ถ้าฉันเป็นผีนะ ฉันจะทำสิ่งเหล่านี้” อย่างยาวนาน มันช่างเรื่อยเจื้อยเรื่อยเปื่อย ถึงขั้นที่ผู้เขียนเผลอเหม่อมองเพดานมองพื้นกันเลยทีเดียว จากนั้นอุดมก็เร่งจังหวะแบบเต็มสูบด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ไปเจอพญานาคกับผองเพื่อน ซึ่งผู้เขียนนับถือในการใส่พลังงาน แต่เรื่องราวมันออกจะแฟนตาซีจนผู้เขียนไม่อาจ relate ได้ (อันนี้เป็นปัญหาของผู้เขียนเอง)
อีกประเด็นที่เคยมีกระแสในทวิตเตอร์อยู่ช่วงหนึ่งคือการแซะถึง ‘ลุงตู่’ ในเดี่ยว 13 เห็นบางคนบอกว่าคราวนี้ใส่แบบไม่ยั้งนั่นนี่ ผู้เขียนเลยแอบคาดหวัง แต่พบว่าเป็นการแซวด้วยสโลแกนหาเสียง ประเภท “จุดแข็งคือหัว จุดอ่อนคือสิ่งอยู่ในหัว” หรือ “ผู้นำที่ต้องเลือกสำหรับคนไม่มีทางเลือก”
จริงอยู่ว่าเป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำที่ชาญฉลาด แต่ก็เหมือนการแซะให้ปรบมือโห่ร้องฟินๆ แล้วจบกันไป ไม่ต่างจากการพูดเรื่องการเมืองในเดี่ยวก่อนๆ ที่เป็นการเอาใจผู้ชม (โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อบัตรราคาหลักพัน) มากกว่าการวิจารณ์แบบเป็นเรื่องเป็นราว ยังมีข้อสังเกตว่าเดี่ยว 13 ไม่มีการพูดถึงเรื่องโควิดหรือการจัดการวัคซีนเลย แต่เข้าใจว่าตัวศิลปินอาจจะไม่อยากพูดถึงมันในฐานะช่วงเวลาอันไม่น่าจดจำ